๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามร่วมชมซุ้มจัดนิทรรศการโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๒ (Thailand Research Expo 2019) เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม โดยกำหนดจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยปีนี้ จัดขึ้นเป็นที่ ๑๔ ระหว่างวันที่ ๗ – ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
วัตถุประสงค์
- น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย
- เพื่อเป็นเวทีระดับชาติ ในการนำเสนอผลการวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่าย ในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการเร่งผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ
- เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ สร้างแรงขับเคลื่อน และให้เกิดกลไกสนับสนุนและพัฒนาการวิจัย และนวัตกรรมของประเทศ เป็นฐานความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ระดับประเทศและนานาชาติ
กำหนดการจัดงาน
๗ – ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒
สถานที่จัดงาน
โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ผลผลิตงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ได้นำส่งต่อผู้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

กิจกรรมภายในงาน
- ภาคการประชุม/สัมมนา ๔ รูปแบบ มากกว่า ๑๐๐ หัวข้อเรื่อง ได้แก่
- การประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ในหัวข้อสำคัญสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยครอบคลุมมาตรฐานการอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประมาณ ๑,๐๐๐ คน/เรื่อง
- การประชุม/สัมมนาขนาดกลาง ในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ควรเร่งแก้ไข ประมาณ ๒๐๐ – ๔๐๐ คน/เรื่อง
- การประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่องในประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจประมาณ ๕๐ – ๑๐๐ คน/เรื่อง
- การถ่ายทอดเทคนิค/กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย (Twilight Program)
- ภาคนิทรรศการ
- นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์
- นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัย โดยรวม “นวัตกรรมจากงานสร้างสรรค์” “ผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยพื้นที่” และ “นิทรรศการศูนย์วิจัยชุมชน”
- นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา
- การส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อผู้สนใจและผู้ใช้ประโยชน์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีฐาน ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการในประเด็นสำคัญอื่นๆ (Thailand Research Expo : Symposium 2019)
- การจัดกิจกรรม Highlight Stage เป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน/องค์กร/พาณิชย์ ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย โดยการกำหนดประเด็นเฉพาะและมีพิธีกรมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินการ
- กิจกรรมการให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย (Research Clinic)
- การจัดกิจกรรมมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๒ (Thailand Research Expo 2019 Award)
- การจัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ๒๕๖๒ เป็นการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ในทุกระดับจากสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้บ่มเพาะความรู้และแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรม ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมและประกวดแข่งขัน
website: Thailand Research Expo 2019
fan page: Thailand Research Expo
fan page: Research University Network Thailand